เออร์โกโนมิกส์


เออร์โกโนมิกส์
ความหมายของคำว่า เออร์โกโนมิกส์
คำว่า เออร์โกโนมิกส์ (Ergonomics) มาจากคำว่า Erg = work (งาน) และ nomy = law (กฎระเบียบ) ดังนั้นจึงแปลว่า กฎระเบียบของงาน
นักวิชาการหลายท่านได้ให้นิยามเกี่ยวกับคำว่า เออร์โกโนมิกส์ ไว้ซึ่งอาจจะพอสรุปได้ คือ
วิทยาการที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน หรือ วิทยาการที่ว่าด้วยการออกแบบงานให้เหมาะสมกับคนที่ทำงานนั้น
องค์ประกอบของเออร์โกโนมิกส์
สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้ 3 กลุ่ม คือ
1. ด้านกายวิภาคศาสตร์ (anatomy) กล่าวถึง
1.1 ขนาดมนุษย์ (anthropometry) ปกติแล้วจะมุ่งพิจารณาปัญหาที่อาจจะเกิดจากขนาด รูปร่างของคนและท่าทางการทำงานของคน
1.2 ชีวกลศาสตร์ (Biomechainics) จะมุ่งพิจารณาปัญหาที่อาจจะเกิดจากการออกแรงหรือใช้แรงในขณะทำงานของคน
2. ด้านสรีรวิทยา (physiology) นั้นจะกล่าวถึง
2.1 สรีรวิทยาการทำงาน (work physiology) จะมุ่งพิจารณาถึงการใช้พลังงานขณะทำงาน ถ้าหากงานนั้นเป็นงานหนักใช้พลังงานมากก็อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายได้
2.2 สรีรวิทยาสิ่งแวดล้อม (environmental physiology) จะมุ่งพิจารณาถึงผลกระทบต่อ สุขภาพที่อาจเกิดจากการทำงานเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ความร้อน แสง เสียง การสั่นสะเทือน เป็นต้น
3. ด้านจิตวิทยา (psychology) นั้นจะกล่าวถึง
3.1 ความชำนาญ (skill psychology) จะเกี่ยวข้องกับความเข้าอกเข้าใจในลักษณะงานของบุคคล ทราบว่าควรจะทำงานอะไร และทำอย่างไร ตลอดจนการตัดสินใจในการทำงานนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของข่าวสารข้อมูลด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการทำงานผิดพลาดซึ่ง นอกจากจะทำให้เกิดผลเสียต่อการผลิตแล้วยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
3.2 จิตวิทยาการทำงาน (occupational psychology) จะพิจารณาถึงปัญหาด้านจิตวิทยาสังคมของบุคคลที่เกิดหรือเนื่องมาจากการทำงาน โดยจะหมายรวมถึงปัญหาสภาวะด้านเวลา และสภาวะด้านสังคมด้วย

การประยุกต์หลักเออร์โกโนมิกส์เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม
มีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มผลผลิตในการทำงาน และต้องการให้คนงานมีประสิทธิภาพดีมีความปลอดภัย ระบบการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักรนั้นถ้ามีการวางแผนที่ดีก็จะทำให้คนงานมีความสะดวกสบาย คนงานก็สามารถตั้งใจพิจารณาทำงานได้อย่างละเอียดมีประสิทธิภาพ ความผิดพลาดก็จะน้อยลง การทำงานกับเครื่องจักรนั้นเน้นหลักการประหยัดพลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การจับต้องเครื่องจักรต้องมีความสะดวกรวดเร็ว มีความแน่นอน การเคลื่อนไหวของแขนควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ควรใช้มือในการทำงานมากกว่าเท้าหรือส่วนอื่นในร่างกาย วัสดุและเครื่องมือควรอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเอื้อมถึงได้หรือไม่ต้องออกแรงมากเกินไปในการหยิบจับ จะเห็นได้ว่าการออกแบบด้านเออร์โกโนมิกส์จะช่วยให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว ปราศจากความเครียดในการทำงาน นอกจากนั้นยังช่วยให้ผลผลิตในการทำงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น