รากฐานของคำว่าอาชีวอนามัย คำว่าอาชีวอนามัยมาจากคำสองคำผสมผสานกัน • อาชีวะ (Occupation) : หมายถึงบุคคลที่ประกอบสัมมาชีพ หรือคนที่ประกอบอาชีพทั้งมวล • อนามัย (Health) : หมายถึงสุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ที่สุขสมบูรณ์ของผู้ประกอบอาชีพ เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันเป็นคำว่าอาชีวอนามัย หมายถึง งานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแล สุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพทั้งหมด เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพอนามัย รวมทั้งการดำรงค์คงไว้ซึ่งสภาพร่างกาย และจิตใจที่สมบูรณ์ของผู้ประกอบอาชีพทุกอาชีพ ความปลอดภัย (Safety) : หมายถึง สภาพแวดล้อมของการทำงาน ที่ปราศจากภัยคุกคาม ไม่มีอันตราย (Danger) และความเสี่ยงใดๆ (Risk) ในทางปฏิบัตินั้นอาจจะไม่สามารถควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยงในการทำงานที่มีผลต่อสุขภาพ การบาดเจ็บ การพิการ การตายได้ทั้งหมด แต่ต้องมีการดำเนินงาน มีการกำหนดกิจกรรมด้านความปลอดภัยเพื่อให้เกิดอันตรายหรือความเสี่ยงน้อยสุดเท่าที่จะทำได้ ลักษณะงานด้านอาชีวอนามัย องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ประชุมร่วมกันให้ลักษณะงานด้านอาชีวอนามัยไว้ ประกอบด้วยลักษณะงาน 5 ประการสำคัญคือ 1. การส่งเสริม (Promotion) หมายถึง การส่งเสริมและธำรงค์รักษาไว้ เพื่อให้แรงงานทุกอาชีพมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่สมบูรณ์ที่สุด และมีความเป็นอยู่ในสังคมที่ดีตามสถานะที่พึงมีได้ 2. การป้องกัน (Prevention) หมายถึงงานด้านป้องกันแรงงานไม่ให้มีสุขภาพอนามัย เสื่อมโทรมหรือผิดปกติอันมีสาเหตุอันเนื่องมาจากสภาพ สภาวะการทำงานที่ผิดปกติ 3. การป้องกันคุ้มครอง (Protection) หมายถึง การปกป้องคนทำงานในสถานประกอบการ หรือลูกจ้างไม่ให้ทำงานที่เสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่อันตรายจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการทำงานได้ 4. การจัดการงาน (Placing) หมายถึง การจัดสภาพต่างๆของการทำงาน และปรับสภาพแรงงาน ให้ทำงานในสิ่งแวดล้อมของการทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของร่างกายและจิตใจของแต่ละคนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆ โดยการนำเอาด้านการลงทุนมาประกอบพิจารณาถึงความเป็นไปได้ด้วย 5. การปรับงานให้กับคนและปรับคนให้กับงาน (Adaptation) หมายถึง การปรับสภาพของงานและของคนให้สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม คำนึงถึงสภาพทางสรีระวิทยาของแรงงานมากที่สุด อยู่ในพื้นฐานของความแตกต่างกันของสภาพร่างกายและจิตใจ พยายามเลือกจัดหางานให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแรงงานมากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพของงาน ทำงานให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด |
ความหมาย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น